วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

5 เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อปลั๊กแปลงไฟ

 

5 เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อปลั๊กแปลงไฟ


    หลังจากที่ได้เคยแนะนำวิธีการเลือกซื้อปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยไร้กังวลกันไปแล้ว ก็มีการถามไถ่กันเข้ามาอย่างต่อเนื่องว่า ปลั๊กแปลงไฟหรือ Adapter นั้น มีวิธีเลือกเหมือนกับปลั๊กพ่วงไหม แล้วปลั๊กจะละลายเหมือนที่เห็นในทีวีหรือเปล่า ฯลฯ ถ้าตอบง่ายๆ ต้องบอกว่า ปัจจุบันปลั๊กแปลงไฟเป็นอุปกรณ์เสริมทางไฟฟ้าที่ยังไม่มีมาตรฐาน มอก. ควบคุม ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ปลั๊กแปลงไฟ ที่จำหน่ายในบ้านเรายังไม่มีมาตรฐานควบคุมเหมือนกับปลั๊กพ่วงที่มีเครื่องหมาย มอก.2432-2555 ที่เป็นตัวบอกได้ว่ารางปลั๊กพ่วงนั้นผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว

แต่อย่าพึ่งสิ้นหวังหรือหมดกำลังใจ เพราะทุกปัญหามีทางออกเสมอ ถ้าเรามีความจำเป็นจริงๆ เพราะต้องใช้ ปลั๊กแปลงไฟ เพื่อแปลงเต้ารับเดิมจาก 2 ขา เป็น 3 ขา หรือเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ วันนี้ผมได้รวบรวมเคล็ดไม่ลับในการเลือกซื้อปลั๊กแปลงไฟที่ไม่ใช่มีดีแค่ใช้กับเต้าเสียบได้หลายประเภทเท่านั้น แต่สามารถบอกได้ว่าปลั๊กแปลงไฟที่มีคุณภาพนั้นควรเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินมาฝากกันครับ

1.ปลั๊กแปลงไฟใช้แปลงขา..ไม่ใช่แปลงแรงดันไฟฟ้า

ปลั๊กแปลงไฟหรือ Adapter นั้น มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ปลั๊กแปลงไฟประเภท “หัวเดียว”เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการแปลงขาปลั๊กไฟแบบใดแบบหนึ่ง และไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง และประเภท “ชุดหลายหัว” ที่มีหัวปลั๊กแปลงหลายรูปแบบอยู่ในตัวเดียวกัน เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ทั้งประเทศในแถบเอเชียหรือยุโรป และพึงระลึกอยู่เสมอว่าปลั๊กแปลงไฟ มีไว้เพื่อแปลงรูปแบบของขาปลั๊กเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแปลงแรงดันไฟฟ้า อย่าเข้าใจผิดเด็ดขาด!




2.วัสดุ..ต้องทนความร้อนและไม่ติดไฟง่าย
 

วัสดุที่ใช้ทำปลั๊กแปลงไฟ ควรทำจากวัสดุคุณภาพสูง มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ เช่น พลาสติก ABS หรือพอลิคาร์บอเนต (PC) ซึ่งทนความร้อนและแรงกระแทกได้ดีกว่าพลาสติก PVC ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ กรณีเกิดความร้อนสูง ขณะใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ใช้กับหม้อทอดไร้น้ำมัน หรือหม้ออบลมร้อนที่กินไฟมาก




3.ขาเต้ารับ..ควรทำจากทองเหลือง/ทองแดง
 

ขาเต้ารับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรภายในปลั๊กแปลงไฟ ควรทำจากทองเหลืองหรือทองแดง เพราะนำไฟฟ้าได้ดีกว่าเหล็กชุบสีหรือโลหะอื่นๆ ไม่ทำให้เกิดความร้อนสะสม จึงช่วยลดปัญหาปลั๊กละลายหรือไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ส่วนบ้านที่มีเด็กเล็ก อาจใช้รุ่นที่มีม่านนิรภัย (Safety Shutter) เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วมือแหย่รู



4.หัวปลั๊ก..ขากลมหรือขาแบน

หลายท่านอาจไม่ซีเรียส เพราะคิดว่าถ้าเสียบหัวปลั๊กเข้ากับเต้ารับ แล้วใช้งานได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าเสียบเต้ารับไม่แน่น อาจมีความร้อนเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกเต้าเสียบหรือหัวปลั๊กขากลมแทนขาแบน เพราะเป็นมาตรฐาน มอก. ของประเทศไทย บางรุ่นมีฉนวนหุ้มที่โคนขาปลั๊กทั้ง 2 ขา เพื่อป้องกันนิ้วไม่ให้สัมผัสขาปลั๊กโดยไม่ตั้งใจ

5.อย่างมองข้าม..ตัวเลขที่ระบุบนปลั๊กแปลงไฟ 

ปลั๊กแปลงไฟที่ดีต้องบอกพิกัดไฟสูงสุดที่สามารถรองรับได้  เช่น 250V 10A 2000W หมายความว่า รองรับแรงดันไฟฟ้าสูงสุด 250 โวล์ต ทนกระแสไฟได้สูงสุด 10 แอมแปร์ และรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 2000 วัตต์ อาจเลือกรุ่นที่มีระบบฟิวส์ที่ช่วยตัดกระแสไฟฟ้าเกิน หรือมีสวิตช์ไฟเปิด-ปิด แสดงสถานะการทำงาน เพื่อป้องกันไฟกระชากจากการถอดหัวปลั๊กแปลงไฟออกจากเต้ารับ นอกจากนี้ปลั๊กแปลงไฟ รุ่นใหม่ๆ อาจมีช่องเสียบ USB เพิ่มมา สำหรับใช้ชาร์จอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ



ความแตกต่างระหว่าง 
ปลั๊กแปลงไฟธรรมดา vs ปลั๊กแปลงไฟคุณภาพ 

ปลั๊กแปลงไฟธรรมดา

วัสดุ : ทำจากพลาสติกคุณภาพต่ำ

ขาเต้ารับ : ทำจากเหล็กชุบสีหรือโลหะอื่นๆ



ปลั๊กแปลงไฟคุณภาพ 

วัสดุ : ทำจากพลาสติก ABS หรือพอลิคาร์บอเนต (PC)

ขาเต้ารับ : ทำจากทองเหลืองหรือทองแดงนำไฟฟ้าได้ดี

อย่างไรก็ดี ปลั๊กแปลงไฟ ที่มีแบรนด์น่าเชื่อถือ ราคาสินค้าก็ย่อมสูงตามไปด้วย อาจเป็นดัชนีบ่งบอกถึงคุณภาพสินค้าได้ง่ายๆ วิธีหนึ่ง และจากที่กล่าวมานี้ แม้ว่า ปลั๊กแปลงไฟ ของเราจะเทพขนาดไหนก็ไร้ผล ถ้าที่บ้านไม่มีระบบสายดิน





1 ความคิดเห็น: