วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไขควงวัดไฟ ราคาหลักสิบแต่ประโยชน์เกินคาด

     

ไขควงวัดไฟ ราคาหลักสิบแต่ประโยชน์เกินคาด


“ไขควงวัดไฟ” หรือ “ไขควงลองไฟ” หนึ่งในอุปกรณ์ช่างที่ทุกบ้านควรมีไว้ ด้วยราคาแค่หลักสิบถึงหลักร้อย แต่อาจช่วยเซฟทั้งชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนในบ้านแบบประเมินค่าไม่ได้เลย เหตุผลที่กล้าพูดแบบนี้เพราะเจ้าไขควงวัดไฟเป็นอุปกรณ์ช่างสำหรับทดสอบแรงดันไฟฟ้าที่จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าในบ้านของเรามีไฟฟ้าหรือมีแรงดันไฟฟ้าอยู่หรือไม่ และยังใช้ตรวจสอบได้ด้วยว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าของเรามีรั่วหรือเปล่า ตัวเล็กจิ๋วแต่คุณสมบัติยอดเยี่ยมขนาดนี้จึงอยากพาทุกคนไปรู้จักเจ้าไขควงวัดไฟให้มากขึ้นครับ


ไขควงลองไฟหรือไขควงวัดไฟหน้าตาอย่างไร?

ไขควงวัดไฟในท้องตลาดส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็นไขควงวัดไฟแบบธรรมดา และไขควงวัดไฟแบบตัวเลขดิจิตอล ซึ่งแบบที่เป็นที่นิยมและคนส่วนใหญ่คุ้นหน้าคุ้นตาที่สุดคือ ไขควงวัดไฟแบบธรรมดาที่มีหลอดไฟอยู่ที่ด้ามจับนั่นเองครับ

    ไขควงวัดไฟชนิดนี้เป็นไขควงเช็คไฟที่มีขนาดเล็ก มีปลายไขควงเป็นโลหะรูปร่างแบน ด้ามจับทำจากแก้วหรือพลาสติกที่ไม่นำไฟฟ้า มีปุ่มโลหะอยู่บริเวณก้นด้าม ส่วนภายในด้ามจะบรรจุหลอดนีออนและตัวต้านทานต่ออนุกรมจากปลายไขควงเช็คไฟมาที่ปุ่มโลหะบริเวณก้นด้ามเพื่อทำหน้าที่แสดงผลแรงดัน


ไขควงลองไฟหรือไขควงวัดไฟทำงานอย่างไร?

    หลักการทำงานของไขควงวัดไฟคือการอาศัยร่างกายของผู้ใช้งานเป็นสื่อ นั่นคือการอาศัยค่าความต่างศักย์ของกระแสไฟฟ้า ที่ตามหลักแล้วกระแสไฟฟ้าจะไหลจากจุดที่มีศักย์มากไปยังจุดที่มีศักย์น้อยกว่า เมื่อปลายไขควงวัดไฟสัมผัสกับตัวนำที่มีกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านตัวต้านทานเพื่อทำการจำกัดกระแสให้ลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน จากนั้นจึงไหลผ่านไปยังหลอดนีออน ก่อนจะไหลต่อเนื่องไปยังร่างกายของผู้ใช้งานแล้วไหลลงพื้นเป็นอันครบวงจร ทำให้หลอดนีออนสว่างขึ้นมาได้ และเป็นเหตุผลที่ระหว่างใช้งานไขควงวัดไฟต้องไม่ใส่รองเท้านั่นเอง


ไขควงลองไฟหรือไขควงวัดไฟใช้งานอย่างไร?

เมื่อต้องการทดสอบแรงดันไฟฟ้าโดยไขควงวัดไฟ ให้จับบริเวณด้ามของไขควงที่เป็นแก้วหรือพลาสติก โดยระวังไม่ให้มือสัมผัสโดนส่วนปลายของไขควงเช็คไฟเด็ดขาด จากนั้นนำปลายไขควงเช็คไฟไปแตะที่ตัวนำ เต้ารับไฟฟ้า สายไฟ หรือบนโลหะที่ต้องการทดสอบ แล้วจึงใช้นิ้วหนึ่งแตะที่ปุ่มกดโลหะบริเวณก้นด้ามจับ หากหลอดนีออนในด้ามไขควงวัดไฟสว่างขึ้น แปลว่าบริเวณที่ทดสอบนั้นมีกระแสไฟฟ้า เป็นเส้นไลน์ หรือมีไฟฟ้ารั่วในระบบนั่นเอง


เมื่อใช้ไขควงลองไฟหรือไขควงวัดไฟต้องระวังอะไรบ้าง?

ข้อควรระวังเมื่อใช้ไขควงวัดไฟที่อยากแนะนำเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานมีดังนี้ครับ

1. ควรเลือกไขควงวัดไฟที่มีขนาดเหมาะสมกับชนิดของไฟฟ้า โดยไฟฟ้ากระแสตรง DC คือไฟฟ้าที่ใช้ในรถยนต์ หรือไฟฟ้ากระแสสลับ AC จะใช้กับไฟที่มาจากการไฟฟ้า

2. นอกจากชนิดของไฟฟ้า ขนาดแรงดันของไฟฟ้าก็ต้องพอเหมาะ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป เช่น การวัดกระแสไฟฟ้าในบ้านซึ่งใช้ไฟ 200 – 250 โวลต์ ก็ไม่ควรใช้ไขควงวัดไฟสำหรับแรงดัน 80 – 125 โวลต์ เป็นต้น และห้ามนำไขควงเช็คไฟไปใช้ทดสอบกับไฟฟ้าที่ไม่รู้ค่าแรงดัน หรือไฟฟ้าแรงสูงเด็ดขาด

3. การจับไขควงวัดไฟขณะใช้งาน ต้องระวังไม่ไปแตะบริเวณปลายไขควงส่วนที่เปลือยเด็ดขาด ควรใช้ไขควงวัดไฟที่ด้ามจับอยู่ในสภาพสมบูรณ์ หุ้มด้วยฉนวนที่ไม่นำไฟฟ้าอย่างแก้ว หรือพลาสติก และอาจใช้เทปพันสายไฟพันให้รอบเพื่อช่วยป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจากการใช้งานที่ไม่ระมัดระวังเพียงพอด้วย

4. การใช้ไขควงวัดไฟที่ถูกวิธี คือการนำปลายไขควงเช็คไฟไปแตะที่ตัวนำที่ต้องการทดสอบก่อน แล้วจึงใช้นิ้วแตะปุ่มโลหะบริเวณด้ามจับในขณะที่ถอดรองเท้าและไม่ยืนอยู่บนพื้นฉนวน เพื่อให้ไฟฟ้าไหลครบวงจร และสามารถแสดงค่าแรงดันที่ถูกต้องได้

5. ทุกครั้งที่ใช้งานไขควงวัดไฟ ให้ระมัดระวังและระลึกเสมอว่าอาจมีอันตราย เช่น ตัวไขควงวัดไฟอาจชำรุดหรือมีการลัดวงจรภายในได้ การใช้งานจึงต้องแตะพียงเล็กน้อยเท่านั้น

6. นอกจากนั้นเวลาแตะตัวนำไฟฟ้าต้องระมัดระวังไม่ให้ไขควงวัดไฟไปแตะโดนส่วนอื่นที่เป็นขั้วไฟฟ้าคนละขั้วพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะในพื้นที่แคบๆ เช่น การแตะโดนขั้วไฟต่างเฟส หรือขั้วมีไฟแตะกับขั้วดิน เป็นต้น เพราะจะทำให้เกิดการลัดวงจรและประกายไฟพุ่งออกมาใส่ผู้ใช้งานจนอาจบาดเจ็บรุนแรงได้

7. สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว ในสถานการณ์ที่มีขั้วไฟฟ้าเปิดโล่งหรือเปลือย เช่น บริเวณแผงสวิตช์ หรือเต้ารับที่เปิดฝาออก ต้องใช้ช่างไฟฟ้ามืออาชีพที่มีความชำนาญเฉพาะทางเป็นผู้ดำเนินการวัดไฟให้เท่านั้น

8. สำหรับไขควงวัดไฟที่ไม่ได้ใช้งานมานาน หลอดนีออน หรือตัวต้านทานภายในอาจชำรุด ใช้การไม่ได้ จึงควรทดสอบก่อนการใช้งานจริง โดยทดสอบกับส่วนที่รู้ว่ามีไฟแน่นอนเสียก่อน เช่น การแตะปลายไขควงเช็คไฟเข้าไปในรูเต้ารับผนัง จะมีรูหนึ่งเท่านั้นที่มีไฟ เป็นต้น

9. ในกรณีที่ไขควงวัดไฟชำรุด ห้ามนำมาซ่อมใช้ใหม่เด็ดขาด รวมถึงห้ามดัดแปลงไขควงวัดไฟด้วยตนเอง เช่น ดัดแปลงเปลี่ยนค่าความต้านทาน หรือต่อตรงความต้านทาน เป็นต้น


ภาพประกอบ :: sumo.siamglobal

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น